สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงเล็งเห็นความสำคัญและปัญหาของการพัฒนาการศึกษาวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ของประเทศไทยให้ได้ระดับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาศักยภาพของนักเรียนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ซึ่งในปีพุทธศักราช 2542 ทรงประทานเงินส่วนพระองค์ให้กับศาสตราจารย์ศักดา ศิริพันธุ์ (นายกสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ในขณะนั้น) นำไปดำเนินการจัดตั้ง “มูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.)” และทรงรับเป็นประธานมูลนิธิ ฯ ด้วย อีกทั้งยังทรงพระกรุณาประทานเงินจากทุนการกุศล กว. ให้กับมูลนิธิ ฯ เป็นประจำทุกปี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นหาที่สุดมิได้
ต่อมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงสืบสานพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยรับเป็นองค์ประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการและพัฒนามาตรฐานวิทยาศาสตร์ศึกษา ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ (สอวน.) และเป็นองค์อุปถัมภ์โครงการจัดส่งเยาวชนไทยไปแข่งขันคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 6 กรกฎาคม พุทธศักราช 2551 เป็นต้นมา ทำให้เกิดการพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ทรงมีมติว่ามูลนิธิ ฯ ได้บรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนานักเรียนไทยให้ประสบผลสำเร็จในการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการแล้ว จึงควรนำกระบวนการที่สร้างความสำเร็จดังกล่าวไปขยายผลให้กับครูเพื่อเป็นการพัฒนามาตรฐานการศึกษาทางด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ของประเทศให้ได้ระดับมาตรฐานสากลต่อไปด้วย
มูลนิธิ สอวน. จึงได้ดำเนินกิจกรรมเพื่อสนองพระราชดำริ อันประกอบด้วย การส่งเสริมนักเรียนระดับมัธยมศึกษาทั่วประเทศที่มีความสามารถทางด้านคณิตศาสตร์ คอมพิวเตอร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ ได้รับการพัฒนาศักยภาพตามความถนัดและความสนใจอย่างเต็มที่ ทั้งทางด้านทฤษฎีและปฏิบัติให้สามารถคิดวิเคราะห์และแก้ปัญหาที่ซับซ้อนได้ และมีความสามารถพร้อมที่จะเข้าระบบการคัดเลือกไปแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศให้ได้ผลดียิ่งขึ้น รวมทั้งการนำประสบการณ์ที่ได้จากการแข่งขันโอลิมปิกวิชาการระหว่างประเทศมาพัฒนามาตรฐานคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ศึกษาของประเทศให้สูงทัดเทียมระดับสากล ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพและการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพของครูผู้สอนทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ในระดับโรงเรียน และการขยายผลออกไปในวงกว้าง โดยได้ร่วมมือกับสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ดำเนินโครงการขยายผล สอวน. สู่โรงเรียนห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ หรือโครงการศูนย์โรงเรียนค่าย 1 สอวน. เป็นโครงการนำร่องระยะแรก 3 ปี (พ.ศ.2555 - 2557) โดยคัดเลือกโรงเรียนของ สพฐ. ที่มีห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ จัดตั้งเป็นศูนย์โรงเรียนละ 1 วิชา จำนวน 36 แห่งทั่วประเทศ ใน 4 วิชา คือ คณิตศาสตร์ เคมี ชีววิทยา และฟิสิกส์ เพื่อให้ครูทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้อบรมนักเรียนค่าย 1 ขนานไปกับค่าย 1 ของศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. มหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลาในการดำเนินโครงการได้มีการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของศูนย์โรงเรียนค่าย 1 สอวน. เป็นระยะ ๆ ซึ่งมีผลปรากฎเป็นที่ประจักษ์ว่าในระยะ 3 ปีของการดำเนินโครงการนั้น มีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของนักเรียนดีขึ้น ครูมีความรู้ความสามารถและมีความมั่นใจเพิ่มขึ้นในการทำหน้าที่เป็นวิทยากรให้อบรมและพัฒนานักเรียนตามแนวทางของหลักสูตรและกระบวนการตามมาตรฐานสากล จึงได้มีการจัดตั้งศูนย์เพิ่มขึ้นในทุกสาขาวิชาทำให้ในปีการศึกษา 2566 มีจำนวนศูนย์โรงเรียนค่าย 1 สอวน. ทั้งสิ้น 128 ศูนย์ทั่วประเทศ
สำหรับการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติเป็นหนึ่งในโครงการที่ทางมูลนิธิ สอวน. ได้ดำเนินการร่วมกับศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาชีววิทยา ทั้ง 13 ศูนย์ทั่วประเทศ ในการเตรียมความพร้อมของนักเรียนที่จะเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศต่อไป ซึ่งในปีพุทธศักราช 2567 นี้ ศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพร่วมกับมูลนิธิ สอวน. จัดการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ครั้งที่ 21 (The 21st Thailand Biology Olympiad – 21st TBO) ระหว่างวันที่ 4 – 8 เมษายน พ.ศ. 2567 ณ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดยจะจัดการแข่งขันและคัดเลือกนักเรียนที่ผ่านการอบรมจาก สอวน. ค่าย 2 จำนวนทั้งสิ้น 100 คน ซึ่งประกอบด้วย นักเรียนตัวแทนจากศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาชีววิทยา 13 ศูนย์ และนักเรียนโควตาจาก สสวท. นอกจากนี้ยังมีผู้เข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระดับชาติ ได้แก่ คณาจารย์จากทั้ง 13 ศูนย์ (หัวหน้าทีม รองหัวหน้าทีม และผู้ช่วยหัวหน้าทีม) จำนวน 45 คน ครูสังเกตการณ์จาก สพฐ. จำนวน 5 คน คณะกรรมการจากมูลนิธิ สอวน. สสวท. และ สพฐ. นักศึกษาพี่เลี้ยง คณะกรรมการดำเนินงานจากศูนย์เจ้าภาพ และผู้สังเกตการณ์จากศูนย์เจ้าภาพในปีถัดไป รวมจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิ้นประมาณ 250 คน
ทั้งนี้ในการดำเนินการแข่งขัน จะใช้ข้อสอบมาตรฐานที่ได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จากมูลนิธิ สอวน. คณะกรรมการวิชาการของมหาวิทยาลัยขอนแก่น และคณาจารย์ผู้แทนศูนย์โอลิมปิกวิชาการ สอวน. วิชาชีววิทยา ทั้ง 13 ศูนย์ นอกจากนี้ผลคะแนนจากการแข่งขันก็ได้รับการพิจารณาจากคณาจารย์ผู้แทนของทุกศูนย์ สอวน. เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส เกณฑ์คะแนนที่ผ่านมาตรฐานจะถูกพิจารณาจำแนกเป็น 3 ระดับ คือ เหรียญทอง เหรียญเงิน เหรียญทองแดง และเกียรติบัตรรางวัลพิเศษ 7 รางวัล ได้แก่ รางวัลคะแนนรวมสูงสุด รางวัลคะแนนรวมทฤษฎีสูงสุด รางวัลคะแนนรวมปฏิบัติการสูงสุด รางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคเหนือ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคใต้ รางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และรางวัลคะแนนรวมสูงสุดประจำภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก (ยกเว้นนักเรียนจากศูนย์โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์และศูนย์โรงเรียนเทพศิรินทร์) และนักเรียนผู้มีคะแนนผ่านเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับสิทธิ์เข้าอบรมในค่ายของ สสวท. เพื่อคัดเลือกเป็นผู้แทนประเทศไทยไปเข้าร่วมการแข่งขันชีววิทยาโอลิมปิกระหว่างประเทศต่อไป